ตรอ. ชื่อนี้สำคัญกับคนมีรถอย่างไร?

สำหรับมือใหม่หัดขับหรือเพิ่งเข้าสู่วงการการมีรถเป็นของตัวเอง อาจจะงงกับ ตรวจสภาพรถ ตรอ. ว่ามันคืออะไร มีหน้าที่อะไร ซึ่งทั้งที่จริงหลายคนอาจจะเคยเห็นป้ายผ่านตากันมาบ้างแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในวงโคจรที่เราจะสนใจ แต่เมื่อเรามีรถเป็นของตัวเองแล้ว เราก็ควรจะต้องทำความรู้จักกับ ตรอ. กันแล้วละค่ะ

ตรอ. คืออะไร?

    ตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้มีข้อกำหนดว่า รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่ง หรือนำมาจดทะเบียน จะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และผู้ร่วมใช้ถนน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ

    ตรอ. ก็คือ สถานตรวจสภาพรถเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้เป็นสถานที่ตรวจสภาพรถ ว่ามีความพร้อมในการใช้งานตรงตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ และสามารถออกเอกสารการันตี เพื่อใช้ในการต่อภาษีประจำปีได้ ซึ่งปกติแล้วต้องนำรถไปตรวจสภาพที่กรมขนส่งทางบก ตรอ. จึงกลายเป็นสถานที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ให้ไม่ต้องเสียเวลาที่กรมขนส่งในการตรวจสภาพรถ และเป็นการลดภาระการตรวจสภาพรถของกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย

แล้วเมื่อไหร่จึงจะต้องตรวจสภาพรถ?

แล้วเราต้องตรวจสภาพรถตั้งแต่ปีแรกเลยมั้ย คำตอบคือไม่ค่ะ

รถที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี ก็คือ

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป 
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

โดยสามารถดูอายุการใช้งานจากวันที่จดทะเบียนได้ในเล่มทะเบียนสีน้ำเงินหรือสีเขียว ที่กรมการขนส่งทางบกเป็นคนออกให้ ให้นับตั้งแต่วันจดทะเบียนวันแรกจนถึงวันครบกำหนดเสียภาษี แต่ถ้าอายุการใช้งานไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสภาพรถกับตรอ. และในการตรวจสภาพรถในปีที่ถึงกำหนดสามารถทำการตรวจสภาพที่ตรอ.ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือนก่อนวันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี

รถที่ไม่สามารถตรวจสภาพกับ ตรอ.ได้

แต่จะมีรถบางลักษณะที่ไม่สามารถตรวจกับตรอ.ได้ แต่ต้องนำไปตรวจสภาพรถกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรงเท่านั้น นั้นก็คือรถที่มีลักษณะดังนี้

  • รถที่ขาดต่อทะเบียน เกิน 1 ปี
  • รถที่มีการดัดแปลงสภาพ, เปลี่ยนแปลงตัวรถ, เปลี่ยนสี, หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่ไม่ตรงกับรายละเอียดในสมุดคู่มือทะเบียนรถ 
  • รถที่ไม่ปรากฏตัวเลขตัวรถ หรือเลขเครื่องยนต์ มีรอยขูดขีด แก้ไข ชำรุด จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ 
  • รถที่มีการแจ้งไม่ใช้งานชั่วคราว หรือแจ้งไม่ใช้รถตลอดไป กับกรมการขนส่งเอาไว้ 
  • รถที่มีเลขทะเบียนรุ่นเก่า เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น ก็ไม่สามารถตรวจสภาพที่ ตรอ.ได้เช่นกัน เพราะจะต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่ เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี
  • รถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ที่เคยสูญหาย หรือเคยโดนโจรกรรมแล้วได้คืน ต้องตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งเท่านั้น

ข้อควรรู้ รถที่ติดแก๊สทุกระบบ จะต้องทําการตรวจและทดสอบ โดยผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับการรับรองจากกรมขนส่งทางบกก่อนชําระภาษีประจําปีของปี ที่ 4 และจะต้องทำการตรวจและทดสอบทุกครั้งก่อนชำระภาษีในทุกปีในปีต่อๆไป

สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อไปตรวจสภาพรถมีอะไรบ้าง?

  • เจ้าของรถ
  • รถที่ต้องการตรวจสภาพ
  • สมุดเล่มทะเบียนรถหรือสำเนา (มอเตอร์ไซค์เล่มสีเขียว/รถยนต์เล่มสีน้ำเงิน)

แล้วถ้ารถติดสัญญาอยู่กับสถาบันการเงิน หรือ บริษัทให้บริการสินเชื่อ โดยที่ไม่มีเล่มทะเบียนอยู่กับเจ้าของรถ จะดำเนินการตรวจสภาพอย่างไรล่ะ? 

ในกรณีที่รถถูกใช้ยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินหรือบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อไว้ ซึ่งเล่มทะเบียนรถจะถูกเก็บไว้ที่ผู้ให้บริการสินเชื่อ ก็จะสามารถใช้สำเนาเล่มทะเบียนที่ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องให้เราเก็บไว้แทนได้ แต่ต้องระวังว่าตัวสำเนาจะต้องมองเห็นเลขทะเบียนรถ ชื่อผู้ครอบครองรถ และ เลขเครื่องยนต์ชัดเจน เท่านี้ลูกค้าสินเชื่อก็สามารถนำรถไปตรวจสภาพได้ด้วยตัวเองแล้วละค่ะ

ต้องเสียค่าตรวจเท่าไหร่?

อัตราค่าตรวจสภาพรถจากตรอ. ได้ถูกกำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก ให้ใช้ราคาเดียวกันทั่วประเทศ ดังนี้

  • รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม 150 บาท/คัน
  • รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม 250 บาท/คัน
  • รถจักรยานยนต์ 60 บาท/คัน

แล้วถ้าตรวจไม่ผ่านต้องทำอย่างไร

หลายคนคงสงสัยว่าถ้าหากตรวจแล้วไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร ในกรณีที่ถ้าหากรถไม่ผ่านการตรวจสอบ ทางตรอ. จะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นสาเหตุทำให้รถไม่ผ่านการตรวจสภาพ ซึ่งเจ้าของรถจะต้องทำการแก้ไขและสามารถนำกลับไปตรวจใหม่ที่ ตรอ. เดิมภายในระยะเวลา 15 วัน โดยคิดค่าบริการการตรวจใหม่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่หากเกิน 15 วัน จะต้องเสียค่าบริการใหม่เต็มจำนวน

และเราจะหา ตรอ. ใกล้บ้านได้อย่างไร?

เราสามารถค้นหา ตรอ. ใกล้บ้านได้ผ่าน Google Map เพียงพิมพ์ว่า ตรอ. ก็จะขึ้นตรอ.ที่อยู่ใกล้เราแล้วละค่ะ หรือสามารถค้นหาได้บนเว็บไซต์สำนักงานขนส่งประจำจังหวัดนั้นๆ

เพื่อให้การขับขี่มีความปลอดภัย นอกจากความไม่ประมาทในการขับขี่แล้ว การเคารพกฎข้อบังคับต่างๆของกรมการขนส่งทางบก ยังเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถ ใช้ถนน รวมทั้งตัวเราเองด้วย ฉะนั้นการตรวจสภาพรถและการต่อภาษีจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ต้องปฏิบัติตาม และยังถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย เงินเทอร์โบพร้อมจะร่วมเดินทางอย่างปลอดภัยไปกับผู้ใช้รถทุกคนนะคะ