เป็นหนี้นอกระบบ โดนข่มขู่ต้องทำอย่างไร แจ้งความได้ไหม ?
โดนข่มขู่จากหนี้นอกระบบ แจ้งความได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการหลวมตัวคิดว่าดอกเบี้ยถูก หรือจะเป็นความต้องการใช้เงินด่วน แต่สุดท้าย เมื่อหาเงินมาใช้ไม่ทันตามกำหนด จากหนี้ก้อนเล็ก ๆ ที่คิดว่ายังไงก็ใช้เงินคืนได้ง่าย ๆ ก็ทบต้นทบดอกจนกลายเป็นหนี้ก้อนโต ดอกเบี้ยที่จ่ายนำหน้าเงินต้น จนไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ทั้งหมดได้ทันที เพื่อน ๆ หลายคนอาจโดนข่มขู่สารพัดจนผวาแม้แต่ในยามหลับ หากว่าใครกำลังเผชิญกับปัญหานี้ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกนะคะ ให้ตั้งสติและทำตามวิธีดังต่อไปนี้ จะช่วยปกป้องตนเองและครอบครัวจากการโดนขู่คุกคามได้ค่ะ
1. ประเมินสถานการณ์
ในอันดับแรกให้ประเมินความรุนแรงของการทวงหนี้ว่าอยู่ในระดับใดก่อนนะคะ โดยทั่วไปอาจจะแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 การทวงถามปกติ เพื่อเตือนให้ชำระหนี้ โดยไม่ข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงใด ๆ อันนี้ยังพอเบาใจได้แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจค่ะ
- ระดับที่ 2 ข่มขู่และคุกคาม โดยใช้คำพูดหรือการกระทำที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือมีการประจานทำให้อับอาย และอาจมีการเผยแพร่ข้อมูลหนี้สินต่อสาธารณะ เพื่อให้ใช้หนี้ ระดับนี้เริ่มต้องเฝ้าระวังและหาทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดค่ะ
- ระดับที่ 3 ใช้ความรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกาย การทำลายทรัพย์สิน ควรรีบแจ้งความโดยเร็วค่ะ และหลบไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
หากโดนข่มขู่ต้องทำอย่างไร ?
ในกรณีที่เพื่อน ๆ ไม่จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ หรือว่าบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่าย ไม่ว่าจะเพราะไม่มีเงินหรือสาเหตุอื่น ๆ ทำให้โดนข่มขู่ ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ ดังนี้ค่ะ
- ศูนย์ดำรงธรรม โทรศัพท์ 1567
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทรศัพท์ 1599
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทรศัพท์ 1359
- สำนักงานอัยการสูงสุด บริการสายด่วนปรึกษากฎหมาย โทรศัพท์ 1157
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและการประนอมหนี้ค่ะ หากว่าโดนข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือทำลายทรัพย์สิน ลูกหนี้ก็สามารถฟ้องได้ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ขึ้นอยู่กับว่าทำผิดกฎหมายด้านใดบ้างนั่นเองค่ะ
กฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทวงถามหนี้และหนี้นอกระบบ
- พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติข้อห้ามเกี่ยวกับการทวงหนี้ เช่น ห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง ห้ามประจานให้อับอาย ห้ามใช้ความรุนแรง ซึ่งหากเป็นการทวงหนี้โดยใช้การข่มขู่หรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
- พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี หรือ 1.25% ต่อเดือน ดังนั้น หากดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถร้องเรียนได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากว่าถูกทวงหนี้ในระดับที่ยังพอเจรจาได้ ให้สอบถามยอดรวมของเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด เพื่อรวมหนี้และกู้เงินในระบบมาเพื่อโปะหนี้จะดีที่สุดค่ะ
2. หาเงินมาปิดหนี้นอกระบบโดยด่วน
เมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว ถึงเวลาที่เพื่อน ๆ จะต้องรีบแก้ไขปัญหาแบบจริงจัง นั่นก็คือ การหาเงินมาปิดหนี้นอกระบบโดยด่วน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และปลอดภัยจากการโดนข่มขู่รุนแรง โดยแนะนำ 3 วิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
ขายทรัพย์สินมีค่าที่มี
ลองดูว่าในบ้านมีสิ่งของมีค่าอย่างทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า กระเป๋าแบรนด์เนม พระเครื่อง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ บ้าน หรือที่ดินหรือไม่ หากว่ามีแนะนำให้ลองมาขายใช้หนี้ก่อนจะดีกว่า จะได้ปลดภาระไปส่วนหนึ่งค่ะ
ขอยืมเงินจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด
โดยอาจทำเป็นสัญญาเงินกู้และมีการผ่อนชำระที่แน่นอน หรือมีหลักประกันเงินกู้ เช่น ผ่อนเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งดอกเบี้ยจะต่ำกว่าหนี้นอกระบบอย่างแน่นอนค่ะ
ขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ถูกกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น การขอสินเชื่อจากเงินเทอร์โบของเรานั่นเองค่ะ ซึ่งมีทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ สินเชื่อโฉนดที่ดิน และสินเชื่อรถแทรกเตอร์ เป็นทางออกของปัญหา โดยที่ไม่ต้องขายรถหรือขายบ้านเพื่อนำมาใช้หนี้อีกด้วยค่ะ
3. บริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
เมื่อหาเงินก้อนมาปิดหนี้นอกระบบได้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องวางแผนการชำระหนี้ในระบบต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินอีกนั่นเองค่ะ
เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
อยากให้เพื่อน ๆ ลองพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เสริมอย่างการขายของออนไลน์ หรือรับจ้างทำงานพิเศษในวันหยุด หรือช่วงเย็น
ชำระหนี้มากกว่าขั้นต่ำ
ช่วยลดดอกเบี้ยและปิดยอดได้เร็วยิ่งขึ้น
ไม่ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติม
พยายามอย่าก่อหนี้ใหม่ จนกว่าจะชำระหนี้เดิมจนหมด ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินกู้หรือการผ่อนสินค้าก็ตาม
คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ
หนี้นอกระบบคืออะไร ?
หนี้นอกระบบ คือ การกู้เงินจากบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่ได้รับรองตามกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ไม่สามารถตรวจสอบได้ มีทั้งแบบนายทุนที่อยู่ในพื้นที่ และแอปพลิเคชันออนไลน์ที่เปิดให้กู้ยืมเงินได้แบบง่าย ๆ
จุดสังเกตของเงินกู้นอกระบบ
- ไม่มีการทำสัญญาหรือเอกสารเงินกู้ที่ถูกต้องชัดเจน
- ดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
- อนุมัติง่ายและเร็วเกินไป
- มีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น การข่มขู่ ประจาน
- ให้ชำระหนี้แบบรายวันหรือรายสัปดาห์
- ไม่มีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน
โดนเจ้าหนี้ข่มขู่สามารถแจ้งความได้หรือไม่ ?
ทำได้ค่ะ ในกรณีที่โดนข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายหรือทำลายทรัพย์สิน เพื่อน ๆ สามารถฟ้องกลับเพื่อดำเนินคดีได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
การดำเนินคดีทางอาญา ให้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือกองปราบปราม หรือหน่วยงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย ในข้อหาเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือการหมิ่นประมาท หรือการข่มขู่กรรโชกทรัพย์ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของการทวงหนี้และข้อเท็จจริง
การดำเนินทางแพ่ง เพื่อฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมในการละเมิด ต้องปรึกษาทนายความเพื่อดำเนินการ
หากจ่ายเงินกู้นอกระบบเกินเงินต้นไปเยอะแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
ในกรณีนี้ให้เข้ารับคำปรึกษาและร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สายด่วน 1567 โทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอัตราดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนดค่ะ
ต้องการเงินก้อนใช้หนี้นอกระบบ ปรึกษาเงินเทอร์โบ
เป็นหนี้นอกระบบ โดนข่มขู่ เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติก่อนนะคะ จากนั้นให้แจ้งความ และพยายามหาเงินก้อนไปปิดหนี้นอกระบบให้ได้ และหากว่าต้องการกู้เงินด่วนเพื่อโปะหนี้ สามารถปรึกษาเงินเทอร์โบได้ เพราะสมัครง่าย อนุมัติไว วงเงินสูง เลือกระยะเวลาผ่อนได้นานสูงสุด 60 เดือน แถมยังสามารถปิดบัญชีก่อนกำหนดโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วยนะคะ
การกดส่งข้อมูล ถือว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรียบร้อยแล้ว
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 15% - 24% ต่อปี
*เงื่อนไขและการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด